หลายสิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้ เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของธุรกิจแฟรนไชส์

นายไอแซค เมอริต ซิงเกอร์
นายไอแซค เมอริต ซิงเกอร์

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าธุรกิจแฟรนไชส์เป็นรูปแบบธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ด้วยรูปแบบธุรกิจที่มีความหลากหลายและมาพร้อมความน่าเชื่อถือ ทำให้การซื้อแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าลงทุน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าธุรกิจแฟรนไชส์เริ่มต้นครั้งแรกที่ไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ย้อนกลับในช่วงกลางปีค. ศ. 1800 นายไอแซค เมอริต ซิงเกอร์ ผู้ก่อตั้ง I.M. Singer & Company (ปัจจุบัน Singer Corporation ) เป็นบุคคลแรกที่จดสิทธิบัตรจักรเย็บผ้าที่ใช้งานได้จริง โดย ณ เวลานั้นการเย็บผ้าส่วนใหญ่ยังเป็นการเย็บมือ และแม้แต่การเย็บในโรงงานเสื้อผ้าที่ใช้เครื่องจักรก็ยังใช้เวลาในการตัดเย็บนานมากกว่าจะทำเสร็จซักชิ้น แต่จักรเย็บผ้าที่ซิงเกอร์ผลิตขึ้นใหม่สามารถเย็บได้ถึง 900 เข็มต่อนาที ซึ่งมากกว่าจักรเย็บผ้าอื่น ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นมาก

จักรเย็บผ้า Singer เครื่องแรกของ Isaac Merrit Singer ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรในปีค. ศ. 1851
ภาพไม้แกะสลักของจักรเย็บผ้า Singer เครื่องแรกของ Isaac Merrit Singer ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรในปีค. ศ. 1851

โดยจักรเย็บผ้า Singer รุ่นแรกวางขายอยู่ที่ราคา $125 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะจับจองเป็นเจ้าของได้ แต่พาร์ทเนอร์คนหนึ่งของซิงเกอร์ ผุดไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ด้วย “แผนการผ่อนชำระ” ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก ทำให้ผู้คนสามารถซื้อจักรเย็บผ้า Singer ในรูปแบบการผ่อนชำระได้ อย่างไรก็ดีบริษัทซิงเกอร์ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข นั่นคือการกระจายสินค้า

การจัดเตรียมใบอนุญาตในการเป็นผู้แทนจำหน่าย Singer

ซิงเกอร์และหุ้นส่วนของเขาเดินทางไปพบนักธุรกิจที่สนใจซื้อสิทธิ์ในการขายจักรเย็บผ้า Singer ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทำการเซ็นสัญญาและรับใบอนุญาตในการเป็นผู้แทนจำหน่าย โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นข้อตกลงแบบ “Win-Win Situation” ที่ทำให้พวกเขาสามารถระดมทุนในการผลิตจักรเย็บผ้าได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้รับใบอนุญาตก็มีโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง นอกจากนี้ซิงเกอร์ยังให้ความรู้เกี่ยวกับระบบค้าปลีก แบบขายตรงตามบ้าน (Door to Door Selling) ให้แก่ร้านเครือข่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นต้นแบบของระบบการบริหารแบบเแฟรนไชซอร์ เพื่อให้ผู้แทนจำหน่ายออกไปหาลูกค้าและทำการสาธิตการใช้จักรให้แก่ลูกค้าที่สนใจ

ภาพโพสเตอร์โฆษณาโดย Paolo Monti, Milan 1963
ภาพโพสเตอร์โฆษณาโดย Paolo Monti, Milan 1963

การทำการตลาด​

กลยุทธ์ทางการตลาดของซิงเกอร์มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิต, อัตลักษณ์ทางเพศ, การให้สินเชื่อ และแผน “เช่าซื้อ” ซิงเกอร์ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงและความสัมพันธ์ที่มีต่อครอบครัว ที่ก่อให้เกิดอุดมคติของคุณธรรม ความสุภาพเรียบร้อยและความขยันหมั่นเพียร เนื่องจากจักรเย็บผ้าช่วยยุติการเย็บด้วยมือที่ยากลำบากและกินเวลา ในยุคที่พ่อค้า-แม่ขายอาศัยการเย็บผ้าเป็นหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว แต่กลับได้รับอัตราค่าจ้างที่ต่ำมากสำหรับงานที่ต้องใช้เวลานานในการผลิต

ถึงแม้ว่าระบบการจัดการในฐานะเแฟรนไชเซอร์ของซิงเกอร์จะไม่สมบูรณ์แบบเสียทีเดียว แต่ซิงเกอร์ คือ ผู้หว่านเมล็ดพันธ์ของระบบแฟรนไชส์ให้กับนักธุรกิจรุ่นหลังได้นำมาเรียนรู้และพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบของการธุรกิจที่แพร่หลายไปทั่วโลก

Note:
– บริษัท I.M. Singer & Company ข้ามชาติแห่งแรกของอเมริกา
– Isaac Singer มีบุตรทั้งสิ้น 24 คน มีภรรยา 2 คน และกิ๊กอีกอย่างน้อย 3 คน
– เขาเสียชีวิตในประเทศอังกฤษ เมื่ออายุ 64 ปี (ค.ศ. 1875) ในขณะที่บริษัทของเขาทำกำไร $22 ล้านเต่อปี
– อ่านเพิ่มเติม: 12 ข้อควรทำก่อนซื้อแฟรนไชส์

Recent Posts